พิธีเปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Center for Southeast Asian Arts and Life

   5 ก.พ. 67  /   0

ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เจาะลึกข้อมูลประเพณีทางศิลปะของภูมิภาค คณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Center for Southeast Asian Arts and Life ณ อาคารหอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567

 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน

พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสงขลา บุคลากร นิสิต ศิลปินนานาชาติและบุคคลทั่วไป เข้าร่วมพิธี ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

  • เพื่อจัดกิจกรรม/โครงการการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
  • เพื่อผลิตงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ การบริการวิชาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคมในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • เพื่อสร้างระบบคลังข้อมูล (Archives) เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรมวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทันสมัยสามารถให้บริการได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
  • เพื่อสร้าง/ขยายเครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • เพื่อส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างกัน ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการผลิต ต่อยอด งานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการพัฒนานิสิต บุคลากรร่วมกัน

 

 

อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายและภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา และความร่วมมือของสถาบันทางการศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งกับชุมชนท้องถิ่นผ่านการจัดโครงการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูล สื่อและทรัพยากรดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สนใจได้ข้อมูลที่เจาะลึกเข้าไปในประเพณีทางศิลปะของภูมิภาคและทำความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับความสำคัญทางวัฒนธรรมของภูมิภาค